ประเด็นร้อน
เปิดข้อมูลทรัพย์สิน'นักการเมือง'โดยสรุป - ทำไมต้องตัดแขนขาตรวจสอบคนโกง?
โดย ACT โพสเมื่อ Nov 30,2017
- - สำนักข่าวคมชัดลึก - -
กลายเป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง สำหรับประเด็นการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. ตามเนื้อหาของร่างกฎหมายป.ป.ช. ฉบับใหม่ ที่กำลังพิจารณาในชั้นกรรมาธิการสามัญ โดยเฉพาะประเด็นที่ระบุว่าเปิดเผยได้ "โดยสรุปเท่านั้น ห้ามเปิดเผย รายละเอียด" !!!
ซึ่งในมาตรา 104 ของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. ... มาตรา 104 ระบุเช่นนั้น จนหลายฝ่ายกังวลว่าจะทำให้กระบวนการตรวจสอบจากที่มีพัฒนาการเรื่อยมาต้องสะดุดหยุดลงจน "ถอยหลังเข้าคลอง"
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้เกี่ยวข้องกับการพิจารณากฎหมายดังกล่าว คำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของบุคคลที่เข้าบริหารบ้านเมืองด้วยภาษีประชาชน มากกว่าการคำนึงถึงความมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบหรือไม่
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) จึงจัดเวทีเสวนาโต๊ะกลม หัวข้อ "การเปิดเผยทรัพย์สินและบทบาทหน้าที่ของป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติ ป.ป.ช.ใหม่" ที่ระดมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วม อาทิ วรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. ในฐานะรักษาการเลขาธิการป.ป.ช., พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ กรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ, ภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ, เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนาะ สุขเจริญ บรรณาธิการข่าว สำนักข่าวอิศรา
"ป.ป.ช."อยากได้ข้อมูล"นอมินี" ถือทรัพย์สินแทนมากกว่า
วรวิทย์ ชี้แจงถึงข้อห่วงใยต่างๆ รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น โดยให้มีตำแหน่งที่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นคือ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ และผู้บริหารท้องถิ่นด้วย จากเดิมให้เปิดเผยเฉพาะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส.และส.ว.เท่านั้น แต่ให้ปกปิดข้อมูลส่วนตัว 14 รายการ อาทิ เลขที่บัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด เลขที่บัญชีธนาคาร ภาพถ่ายทรัพย์สิน เพื่อป้องกันไม่ให้นำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางมิชอบ จนถูกมองว่าปิดกั้นประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบนักการเมือง ซึ่งป.ป.ช.ต้องมาดูถึงความเหมาะสมว่า การปกปิดข้อมูลบางส่วนนั้น ต้องไม่เป็นการปิดกั้นการตรวจสอบ ขณะเดียวกันข้อมูลที่จะเปิดเผยต้องไม่กระทบสิทธิส่วนตัวมากเกินไป ส่วนตัวมองว่าประเด็นดังกล่าวไม่ใช่ปิดกั้นการตรวจสอบ เพราะข้อมูลที่ประชาชนแจ้งให้ป.ป.ช.ทราบ ไม่จำเป็นต้องเป็นข้อมูลเชิงลึกถึงขั้นต้องได้เลขที่บัญชีธนาคาร เลขที่โฉนด อีกทั้งระยะหลังนักการเมืองไม่เคยนำทรัพย์สินไว้ในชื่อตัวเอง แต่นำไปไว้ในชื่อ "นอมินี" แทน ซึ่งข้อมูลส่วนนี้เป็นสิ่งที่ป.ป.ช.อยากได้มากกว่า
"จากประสบการณ์ทำงานการมีส่วนร่วมตรวจสอบข้อมูลที่ปกปิดนั้นไม่มีผลต่อการมีส่วนร่วมตรวจสอบของประชาชน แต่ข้อมูลที่อยากได้คือมีทรัพย์สินอื่นใดอีกบ้างที่ผู้ดำรงตำแหน่งรายนั้นๆ ไม่ได้แจ้งต่อป.ป.ช.อีก ปัจจุบันพบว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ทุจริตเขารู้ว่า ป.ป.ช.ตรวจสอบร่วมกับสื่อ หลังๆ มาจึงไม่มีการเอาทรัพย์สินมาไว้ในชื่อตัวเอง ให้ "นอมินี" ถือแทน ข้อมูลตรงนี้เราอยากได้มากกว่า นี่คือสิ่งที่ต้องการเพราะเราตรวจสอบตามระบบมันไม่เจอ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ป.ป.ช.คงต้องกลับไปพิจารณาความเหมาะสมในการมีส่วนร่วมตรวจสอบและไม่ให้กระทบสิทธิของผู้ที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินมากเกินไป"
"กมธ." ถอย หั่น "เปิดเผยโดยสรุป" ทิ้ง เพื่อความสบายใจทุกฝ่าย
ขณะที่ตัวแทนกรธ.อย่าง ภัทระ ชี้ให้เห็นว่า หลักการที่กรธ.เสนอเรื่องการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินในร่างกฎหมายลูกป.ป.ช.นั้น ไม่ได้แตกต่างจาก ปี 2540 และ 2550 การระบุว่า มาตรา 104 ของ กฎหมายป.ป.ช.ที่ให้ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณชนได้โดยสรุปเท่านั้น เจตนารมณ์ของกรธ.คือ ไม่ต้องการให้นำข้อมูลส่วนตัวของผู้แสดงบัญชีทรัพย์สินไปใช้ในทางไม่ถูกต้อง เพราะคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันของสังคม วิวัฒนาการที่เปลี่ยนไป ข้อมูลบางอย่างเมื่อเปิดเผยไปอาจกระทบผู้ที่ยื่นได้ ที่ผ่านมาสนช.หลายคนระบุตรงกันว่า ถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางไม่ถูกต้อง จึงไม่อยากให้เปิดเผยข้อมูลที่อาจเกิดอันตรายแก่เจ้าของข้อมูลได้
อย่างไรก็ตามเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ล่าสุดกรรมาธิการได้แก้ไขเนื้อหามาตรา 104 กฎหมาย ลูกป.ป.ช. โดยตัดคำว่า "โดยสรุป" ทิ้งไป และให้ป.ป.ช. ไปกำหนดเองว่ามีข้อมูลส่วนใดที่จะไม่เปิดเผยได้บ้าง ขณะนี้มีข้อมูลอยู่ในข่ายปกปิดได้ตามระเบียบป.ป.ช. 14 รายการ อาทิ เลขที่บัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ทะเบียนรถ เลขที่โฉนด เลขที่บัญชีธนาคาร ภาพถ่ายทรัพย์สิน ที่อยู่โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่ของผู้ให้กู้ยืมเงิน ข้อมูลเหล่านี้เมื่อยื่นต่อป.ป.ช.มา ป.ป.ช. อาจไม่จำเป็นต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ หรืออาจทำแถบดำคลุมข้อมูลเหล่านี้ไว้ได้ เนื้อหาอีกส่วนที่กมธ.เพิ่มเติมเข้ามาในร่างกฎหมายลูกป.ป.ช. คือ ให้ข้าราชการทุกระดับยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อหน่วยงานเมื่อตอนเข้ารับราชการ และทุก 3 ปี เก็บเป็นข้อมูลไว้ตรวจสอบ หากมีการร้องเรียนเข้ามา
"ที่ผ่านมามีคนร้องป.ป.ช.ไม่น้อยว่ามีคนเอาข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางมิชอบจำนวนมากเลยมีการให้เปิดเผยโดยสรุปซึ่งไม่ต้องระบุทะเบียนทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่จำเป็น"
"เจิมศักดิ์" ชี้ เมื่อคนตำแหน่งสูงขึ้นความเป็นส่วนตัวต้องน้อยลง
ส่วนอีกมุมมองที่น่าสนใจจากเจิมศักดิ์ ระบุว่า ป.ป.ช.อย่าปิดข้อมูลส่วนบุคคลพวกนี้เลย เรื่องนี้ป.ป.ช.ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประเด็นสิทธิส่วนบุคคลกับการคุ้มครองสาธารณะ ในเมื่อนักการเมืองอาสามาทำงานเพื่อสาธารณะ โดยกินเงินเดือนสาธารณะ รวมถึงดูแลทรัพยากรและเงินทองของสาธารณะ
"ความเป็นส่วนตัวของคนต้องลดลงไปเรื่อยๆ เมื่ออยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น มีอำนาจอิทธิพลมากขึ้น ผมคิดว่าการคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลควรจะต้องน้อยลง เมื่อกฎหมายที่กำลังร่างเขียนคลุมเครือเราก็เป็นห่วง เราก็ต้องระแวง เช่นให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินโดยสรุป ก็ขึ้นอยู่กับป.ป.ช.ว่าจะสรุปให้เราแค่ไหน มันตีความไปได้ และให้เปิดเผยผลตรวจสอบ"
อัดเละป.ป.ช. ไร้น้ำยา ไร้เครดิต !!!
เจิมศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าให้ป.ป.ช.เปิดเผยผลตรวจสอบ แล้วเราเชื่อได้หรือไม่ว่าจะทำถี่ถ้วน ทุกชุดทำตรงไปตรงมา คำตอบคือเชื่อไม่ได้ เพราะเคยช่วยงานป.ป.ช. มีข้อมูลเก็บไว้เยอะมาก แต่ไม่มีปัญญาดูได้หมด แล้วถามว่าป.ป.ช.ไร้ซึ่งอคติหรือไม่นั้น ตนไม่ค่อยเชื่อ โดยเฉพาะป.ป.ช.ชุดนี้ ดังนั้นถ้ากฎหมายเปิดช่องมันจะถูกตีความเรื่องสิทธิส่วนบุคคลมากขึ้นๆ ซึ่งแนวโน้มก็เห็นแล้วว่าป.ป.ช.กำลังทำ จากปกปิดแค่ 4 รายการ มาเป็น 14 รายการ ถ้าเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ จะเป็นอย่างไร
"นอกจากนั้นเรื่องคุณสมบัติป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญ 60 มีป.ป.ช.บางคนที่คุณสมบัติต่ำกว่ามาตรฐานตามรัฐธรรมนูญใหม่ ไปนั่งในกรรมาธิการพิจารณากฎหมายป.ป.ช.ฉบับใหม่ และยังมีญาติเข้าไปร่วมด้วย อย่างนี้ป.ป.ช.จะทำงานยังไง""กก.ปฏิรูปทุจริต" ถามนักการเมือง กลัวอะไรถึงไม่ให้เปิดเผย
"ผมไม่เห็นด้วยกับการให้ความสำคัญกับการปกปิดข้อมูลส่วนตัว ตามที่อ้างกันว่าอาจเกิดอันตราย ผมยื่นบัญชีทรัพย์สินและเปิดเผยมา 10 ปี ไม่เห็นมีใครมาทำร้าย ถ้ามีคนบอกว่าอันตราย แสดงว่าคงไปทำอะไรมา" ความเห็นของพล.อ.อ.วีรวิท ที่คัดค้านการปกปิดข้อมูลส่วนตัวอย่างชัดเจน
"อิศรา" ยกคดีเก่าๆ เช็กบิลนักการเมืองได้ ก็จากการเปิดเผยข้อมูลในบัญชีทรัพย์สิน
ด้านเสนาะ สะท้อนมุมมองสื่อมวลชนที่ลงไปติดตามตรวจสอบนักการเมืองในหลายกรณีว่า การที่ป.ป.ช.ปกปิดข้อมูลส่วนบุคคล 14 รายการ ทำให้แทบมองไม่เห็นอะไรเลย เป็นการตัดแขน ตัดขาภาคประชาชนในการตรวจสอบ เนื่องจากการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจสอบ ในอดีตเช่น คดีซุกหุ้น การถือหุ้นเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของบรรดารัฐมนตรีจนต้องพ้นตำแหน่ง ล้วนมาจากการตรวจสอบผ่านการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวในบัญชีทรัพย์สินทั้งสิ้น ตนถึงให้ความสำคัญกับมาตรา 104 เป็นพิเศษ ถ้าปิดข้อมูลส่วนบุคคลจะไม่เห็นช่องทางหรือไม่มีร่องรอยให้สืบค้น
"ตอนที่ทีมงานสำนักข่าวอิศราลงไปตรวจสอบคดีทุจริตสร้างสนามฟุตซอล มีบริษัทหนึ่งที่สงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับนักการเมืองได้สัมปทานไป เราก็ดูรายชื่อผู้ถือหุ้นก็ไม่พบชื่อนักการเมืองคนที่สงสัย แต่ปรากฏว่าผู้ถือหุ้นใหญ่มีที่อยู่เดียวกันกับนักการเมืองคนนั้น ก็รู้ได้จากการตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวในบัญชีทรัพย์สินที่นักการเมืองคนนั้นยื่นมาที่ป.ป.ช. ดังนั้นถ้าป.ป.ช.ให้น้ำหนักกับการปกปิดที่อยู่บุคคลสาธารณะที่อาสาเข้ามามากกว่าให้น้ำหนักกับการตรวจสอบ มันก็น่าหดหู่" เสนาะ ระบุ
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน